.

.

กรอบเงินพิเศษ เลี่ยมสุโขทัย

งานเลี่ยมกรอบพระวันนี้ เป็นงานสั่งพิเศษค่ะ
จะมีลูกเล่นมากขึ้น คือใช้ดอกพิกุล ไข่ปลา ลวดเกลียว
และเทคนิคพิเศษอื่น ๆ อีกหลายอย่าง
ตามแต่ช่างเลี่ยมแต่ละคนจะจินตนาการและมีความถนัด

วันนี้มีมาให้ชมกัน ๓ องค์ด้วยกันค่ะ




องค์แรกเป็นงานเลี่ยมกรอบสมเด็จ



ซุ้มด้านบน ช่างเลี่ยมติดดอกบัวซึ่งใช้วิธีดัดและขดเส้นลวดเล็ก ๆ ที่ทำจากเนื้อเงิน
บางครั้งภาษาช่าง จะเรียกลวดที่ดัดคล้ายสปริงเล็ก ๆ นี้ว่า "ตัวหนอน" ค่ะ



หนุนด้วยแผ่นเงินที่ปะหน้าทับไปเป็นชั้นที่ ๒ และเลื่อยแต่งเป็นลายกนก



ส่วนริมทั้งสองข้างแต่งด้วยเม็ดไข่ปลาเรียงอย่างเป็นระเบียบ

การทำไข่ปลามาติดกันเป็นแถว ๆ นี่ ก็ไม่ใช่เรื่องกล้วย ๆ ซักเท่าไหร่เลยนะคะ

เพราะต้องเริ่มจาดการนำลวดเล็ก ๆ มาตัดแบ่งให้เป็นท่อนขนาดเท่า ๆ กัน
หลังจากนั้นก็เป่าไฟไปที่ท่อนลวดเล็ก ๆ นั้น จนกระทั่งมันละลายกลายเป็นเนื้อโลหะเหลว ๆ
สีแดง ๆ ด้วยความร้อน ใช้ความรวดเร็วของมืออีกข้างของช่างที่ต้องนำเหล็กปลายแหลม
มาช้อนเจ้าเม็ดไข่ปลาที่กำลังอยู่ที่จุดหลอมเหลวและพร้อมจะเปลี่ยนรูปได้ทุกเมื่อ
มารีบแปะเอาไว้ที่หน้ากรอบพระ ที่ละเม็ด ๆ

ถ้าตัดแบ่งลวดไม่เท่ากันตั้งแต่แรกล่ะก็...ไข่ปลาที่ได้ก็อาจจะกลายเป็นไข่ปลาที่มาจาก
แม่ปลาคนละพันธุ์เป็นแน่แท้ล่ะค่ะ ก็คือมันจะเล็กบ้าง ใหญ่บ้างโดยมิต้องสงสัย

และถ้าตอนเลี้ยงไฟและเหล็กแหลมที่ต้องใช้ทั้ง ๒ มือ ๒ ตา ประสานกันให้ดี ๆ เนี่ยนะคะ
หากช่างไม่ชำนาญพอแล้วล่ะก็... อิอิ... นอกจากจะได้ไข่ที่เล็กบ้างใหญ่บ้างแล้ว
ยังต้องพบกับไข่ที่มีนานารูปทรง แถมบ้างฟองยังเหมือน ๆ ว่าลูกปลาฟักออกมาแล้วแหง ๆ

กว่าช่างเลี่ยมทองแต่ละคนจะมีฝีมือได้ถึงขั้นนี้ ก็ต้องฝึกกันหลายปีเชียวล่ะค่ะ



ด้านข้าง เป็นไข่ปลาสลับท่อน เพื่อไม่ให้งานเลี่ยมดูเลอะจนเกินไป

งานไข่ปลามักจะมาคู่กับลวดเกลียวเสมอค่ะ
เป็นลูกเล่นที่ช่วยแต่งไข่ปลาให้ดูมีทิศทางที่แน่นอน
วิธีการคือช่างเลี่ยมจะนำลวดเส้นเล็ก ๆ ๒ เส้นมาพันกันให้เป็นเกลียว
หน้าตาคล้ายเกลียวเชือกนั่นล่ะค่ะ
แล้วก็นำมาติดขนานยาวไปกับแนวของไข่ปลา



ฐานกรอบพระองค์นี้แต่งเป็นลายกนกเช่นดันค่ะ เพื่อให้กลมกลืนกับส่วนยอดบน



ผลงานเสร็จออกมา ถูกใจเจ้าของไม่น้อยเลยทีเดียวค่ะ





องค์ต่อมาเป็นงานเลี่ยมทอง พระปากน้ำรุ่น ๑



เป็นงานเลี่ยมยกซุ้มดอกพิกุล ไข่ปลา ลวดเกลียว
พิเศษขึ้นมาอีกนิดกับ งานหัวหมุนเม็ดมะยม ค่ะ



ยกซุ้มด้วยดอกพิกุลที่เลื่อยลายจากแผ่นทอง แต้มด้วยจุดเกสรกลม ๆ เล็ก ๆ ที่กึ่งกลางกลีบดอกทั้งสี่
แผ่นทองอีกชั้นเลื่อยแต่งเป็นกนกคล้ายเถา อ่อนช้อย สวยงาม





ฐานล่าง ที่แต่งด้วยแผ่นทองยกเป็นกนกเถาไม้รับกับลายด้านบน



หัวห่วง ที่ช่างโบราณเลี่ยนแบบเม็ดมะยม เสริมให้กรอบพระแลดูมีคุณค่ามากขึ้นอีกเท่าตัว
พิเศษอีกนิดกับหัวหมุนที่ช่วยให้กรอบพระหมุนได้ ๓๖๐ องศา




ชิ้นที่ ๓ เป็นงานกรอบเงิน ดอกพิกุลค่ะ

ดอกพิกุลของโต๊ะช่างนี่มีด้วยกัน ๒ แบบ
หนึ่ง คือ ดอกพิกุลที่ทำจากแผ่นทองหรือแผ่นเงิน นำมาเลื่อยลายเป็น ๔ แฉก
สอง คือ ดอกพิกุลที่ทำจากลวดดัด
งานชิ้นนี้ประกอบด้วยดอกพิกุลทั้ง ๒ แบบเลยทีเดียวค่ะ




ดอกพิกุลเรียงตัวกันอย่างระเบียบเสมือนช่างดอกไม้ฝีมือเอกกรองพวงมาลัย
เพื่อเตรียมถวายสักการะองค์พระผู้มีพระภาคเจ้าฉะนั้น



ดอกพิกุลที่ทำจากลวดดัดนี่เกิดจากการนำลวดมาปั่นให้กลมเป็นหลอด ๆ คล้ายสปริงค่ะ
แล้วช่างจะตัดแบ่งให้มีท่อนละประมาณ ๖-๗ วง
หลังจากนั้นก็นำมาดัดให้ปลายทั้งสองชนกัน
เชื่อมด้วยน้ำประสาน และติดเกสรเป็นอันดับสุดท้าย
เม็ดไข่ปลาที่ว่ายากแล้ว มาเจอดอกพิกุลนี่ก็ไม่ธรรมดาเช่นเดียวกันค่ะ
ดัดและเชื่อมก็ไม่ง่าย แถมยังต้องให้แต่ละดอกมีขนาดเท่ากันอีก...
อืม...ต้องลองจินตนาการดูค่ะ



ห่วงจี้ เทคนิคดอกพิกุลเลื่อยลาย เป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ที่มองหาสิ่ง ๆ ใหม่
แทนห่วงกลม ๆ ธรรมดา สวย... คลาสสิค...