.

.

ตลับทอง พระสมเด็จ

โต๊ะช่างขอโชว์วันนี้
ขอนำงานเลี่ยมทอง ตลับพระสมเด็จสวย ๆ มากฝากกันนะคะ

นอกจากนั้นยังมีบทความดี ๆ เกี่ยวกับธรรมชาติด้านหลังพระสมเด็จวัดระฆัง
จากสำนักพิมพ์คเณศ์พร มาฝากกันด้วยค่ะ



"ธรรมชาติด้านหลัง พระสมเด็จวัดระฆัง"
การศึกษาพระสมเด็จวัดระฆัง นอกจากจะมุ่งเน้นศึกษาพุทธลักษณะด้านหน้า
หรือที่เรียกกันว่า พิมพ์ทรง แล้ว
ด้านหลังของพระสมเด็จวัดระฆัง ก็ถือเป็นจุดสำคัญในการพิจารณาไม่ได้ด้อยไปกว่าด้านหน้า
ในอดีต บรรดาเซียนพระมักจะพูดอวดตัวเสมอว่า พระสมเด็จวัดระฆังนั้นให้คว่ำหน้า
เปิดดูเฉพาะหลังก็จะพิจารณาได้ว่าเป็นพระแท้หรือเก๊ได้ทันที



การศึกษาลักษณะเนื้อหามวลสารและธรรมชาติความเก่าในพระสมเด็จวัดระฆัง
หากเราศึกษาจากด้านหลังขององค์พระจะให้ความกระจ่างกว่าด้านหน้า
เนื่องจากเป็นพื้นผิวที่เรียบเสมอกัน
และไม่มีส่วนนูนของพิมพ์ทรงมาเป็นข้อขัดขวางทำให้สะดวกในการพิจารณา
จึงขอนำด้านหลังมาเป็นแนวทางในการศึกษาพระสมเด็จวัดระฆังอีกทางหนึ่ง



ตามประวัติการสร้างพระสมเด็จวัดระฆัง เป็นการสร้างที่เรียกว่า ทำไปแจกไป
ดังนั้นจึงทำให้มวลสารของพระสมเด็จวัดระฆังมีความแตกต่างกัน
อันสืบเนื่องมากจากปริมาณในการใส่ส่วนผสมที่แตกต่างกันในแต่ละครั้ง



ถึงกระนั้น มวลสารหลักในการสร้างพระสมเด็จวัดระฆังก็มิอาจบิดเบือนไปจากสูตรหลัก
มวลสารหลักในการสร้างพระสมเด็จวัดระฆังประกอบไปด้วย ปูนเปลือกหอย
มีส่วนผสมของผงวิเศษอันเกิดจากการเขียนและลบพระสูตรเลขยันต์ ตลอดจนพระคาถาต่างๆ
สำเร็จเป็นผงวิเศษ เกสรดอกไม้ ผงธูป เป็นต้น



ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้รวบรวมมวลสารทั้งหมดมาผสมกันแล้วผสมกับน้ำอ้อย
นำเนื้อทั้งหมดลงในครก ตำให้เนื้อละเอียดแล้วผสมกันจนเนื้อเหนียวหนึก
เสร็จแล้วนำเนื้อแต่ละครกขึ้นมาปั้นเป็นแท่งสี่เหลี่ยมยาวๆ



เมื่อได้เนื้อเป็นแท่งสี่เหลี่ยมยาวๆมีขนาดเพียงพอดีกับการสร้างพระแต่ละองค์
เอาตอกตัดเนื้อเป็นชิ้นๆ ขนาดหนาพอควร เราเรียกเนื้อแต่ละชิ้นว่า ชิ้นฟัก



แม่พิมพ์ของพระสมเด็จวัดระฆังนั้น...
สันนิษฐานว่าแกะจากหินชนวนโดยแกะแม่พิมพ์เป็นตัวเมีย



คือลึกลงไปในเนื้อหินชนวนเป็นรูปพระประธานมีซุ้มเรือนแก้วเป็นเส้นคล้ายหวายผ่าซีก
โดยมีขอบสี่เหลี่ยมขององค์พระรอบซุ้มเรือนแก้วทั้ง 4 ด้านที่เรียกว่า เส้นบังคับ
ซึ่งสันนิษฐานได้ว่ามีการบากที่ขอบขององค์พระทั้ง 4 มุม ไว้
เพื่อเป็นจุดที่จะนำตอกมาตัดขอบพระสมเด็จทั้ง 4 ด้าน



กรรมวิธีในการพิมพ์นั้นค่อยๆ กดเนื้อพระสมเด็จให้แน่น
เสร็จแล้วจึงนำไม้กระดานมาวางลงบนเนื้อพระสมเด็จ
สันนิษฐานได้ว่าน่าจะมีไม้กระดาน 4 แผ่น ในคราวพิมพ์พระสมเด็จวัดระฆัง
ไม้กระดานทั้ง 4 แผ่นคงจะมีผิวไม่เหมือนกัน
จึงเกิดพิมพ์ด้านหลังองค์พระตามลายไม้กระดานทั้ง 4 แผ่น



ลักษณะด้านหลังของพระสมเด็จวัดระฆังอันสืบเนื่องมาจากลายไม้กระดานทั้ง 4 แบบ
ได้ข้อสรุปแบบพิมพ์ด้านหลังไว้ดังนี้

1.พิมพ์หลังกาบหมาก
ลักษณะด้านหลังพิมพ์นี้จะดูเป็นลายไม้กระดานซึ่งเมื่อพระหดตัวตามอายุความเก่าของพระ
ลายไม้กระดานจะดูละเอียดและลึกยิ่งขึ้นเหมือนลายกาบหมากที่แห้งและหดตัว



ธรรมชาติของด้านหลังอันเกิดจากอายุความเก่าที่เห็นได้ชัดมาก คือ
รอยปริแตกของเนื้อพระที่ลู่ไปในทางเดียวกัน
เมื่อพระแห้งและหดตัวลง รอยปริแยกนี้จะแยกให้เห็นชัดขึ้นเรียกกันว่า รอยปูไต่
มีลักษณะเป็นเส้นๆ เหมือนขาปูไต่ถูกเนื้อ







สำหรับพระสมเด็จวัดระฆังที่ผ่านการใช้หรือสัมผัส สมัยก่อนก็มักจะเปิดหลังให้ถูกร่างกายผู้ใช้
บางองค์ถูกกัดกร่อนด้วยเหงื่อไคลดูคล้ายลักษณะที่เรียกกันว่า หลังเน่า
รอยกาบหมากก็จะเลอะเลือนไม่ชัดเจน
แต่รอยปูไต่และรอยปริแตกกระเทาะของขอบข้างองค์พระยังคงปรากฏให้เห็นชัดเจนทุกองค์





2. พิมพ์หลังกระดาน
ลักษณะจะเป็นลายไม้กระดานที่เห็นคลองเลื่อยขวางกับองค์พระ
บางองค์คลองเลื่อยจะเห็นชัดเจนมาก บางองค์ก็จะไม่ชัดนัก
และจะปรากฏธรรมชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของพระสมเด็จวัดระฆังคือ
รอยปูไต่ และรอยขอบกระเทาะอย่างชัดเจน





3. พิมพ์หลังสังขยา
มีลักษณะเหมือนหน้าสังขยา คือไม่เรียบแต่ก็ไม่มีลายละเอียดเหมือนพิมพ์หลังกาบหมาก
จะเห็นได้ชัดว่าพื้นผิวด้านหลังจะมีความขรุขระ ปรากฏรอยปูไต่ลู่ตามทางเดียวกัน
ตลอดจนรอยกระเทาะของขอบพระ



4. พิมพ์หลังแผ่นเรียบ
ลักษณะของด้านหลังพิมพ์นี้จะดูเรียบไม่มีรอยกาบหมาก รอยกระดานหรือรอยสังขยา
ดูมีความเรียบร้อยสวยงาม ปรากฏธรรมชาติความเก่าอันได้แก่ รอยปูไต่ ชัดบ้างไม่ชัดบ้าง
(บางองค์จะไม่มีรอยปูไต่) และรอยกระเทาะของขอบพระชัดเจน





ก่อนจะจบ ขอนำเรื่องของธรรมชาติความเก่าที่เราเรียกว่า รอยปูไต่ มาให้ทราบกันพอสังเขป

รอยปูไต่ เป็นคุณลักษณะประการหนึ่งบนพื้นผิวพระสมเด็จวัดระฆัง
เป็นปฏิกิริยาของผิวที่ได้รับความร้อนแล้วแห้งจากส่วนบนไปในเนื้อพระ
มีลักษณะเป็นรอยย้ำจากภายนอกเข้าไปในเนื้อ มีลัณฐานเขื่องและเป็นรอยคู่
คือ 2 รูเคียงกันและเดินเกาะคู่เป็นแนว ส่วนมากจะพบบริเวณชายกรอบด้านข้างด้านใดด้านหนึ่ง
และเดินไปด้านตรงข้ามในแนวเฉียง
มีทั้งเฉียงลงและเฉียงขึ้นทีละน้อยจนกระทั่งหายไปทางด้านตรงข้าม





รอยปูไต่นี้ ถ้าปรากฏในพระสมเด็จองค์ใด
สามารถช่วยพิจารณาตัดสินยืนยันความแท้ของพระสมเด็จองค์นั้นๆ ได้เป็นอย่างดี
เพราะปัจจุบันยังไม่ปรากฏว่าพระปลอมสามารถทำให้ใกล้เคียงกับพระแท้
ที่มีความหนักเบาของเส้นรอยปูไต่อย่างธรรมชาติ





ขอขอบคุณ : สำนักพิมพ์คเณศ์พร ที่มาของบทความ
ชมเวบต้นฉบับ สำนักพิมพ์คเณศ์พร คลิก